ชมรมนักวิทยุสมัครเล่นแก่นทอง จังหวัดขอนแก่น ความถี่ 144.750 MHz
ยินดีต้อนรับคุณ,
บุคคลทั่วไป
กรุณา
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
1 ชั่วโมง
1 วัน
1 สัปดาห์
1 เดือน
ตลอดกาล
เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ค้นหา
เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
ชมรมนักวิทยุสมัครเล่นแก่นทอง จังหวัดขอนแก่น ความถี่ 144.750 MHz
»
สถานที่ท่องเที่ยวและคลังแห่งการเรียนรู้ทางพุทธศาสนา
»
วัดและสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา
»
ข้อแตกต่างระหว่างพระป่า ( พระธุดงค์ ) กับพระบ้าน
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า: [
1
]
ลงล่าง
ผู้เขียน
หัวข้อ: ข้อแตกต่างระหว่างพระป่า ( พระธุดงค์ ) กับพระบ้าน (อ่าน 1976 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ตามรอยพุทธ
Administrator
Hero Member
กระทู้: มากเกินบรรยาย
ข้อแตกต่างระหว่างพระป่า ( พระธุดงค์ ) กับพระบ้าน
«
เมื่อ:
29 สิงหาคม 2015, 10:15:58 »
พระภิกษุในพระพุทธศาสนาแบ่งออกได้เป็นสองฝ่ายคือ
1. ฝ่ายคันถธุระ
หรือ
พระบ้าน
2. ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
หรือ
พระธุดงค์
ฝ่ายคันถธุระ ศึกษาพระปริยัติธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อให้เกิดความรอบรู้ในหลักธรรม เพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติ และสั่งสอนผู้อื่นต่อไป พระภิกษุฝ่ายนี้เมื่อศึกษาแล้วจะเกิดปัญญาที่เรียกว่า สุตตามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้จากภายนอกโดยการฟังการเห็นเป็นต้น ส่วนใหญ่พระภิกษุฝ่ายคันถธุระ มักจะอยู่ที่วัดในเมืองหรือหมู่บ้าน เพื่อความสะดวกในการแสวงหาความรู้เพื่อตนเองจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ และได้ใช้ความรู้นั้น ๆ สั่งสอนผู้อื่นได้ง่าย ได้บ่อยครั้งและได้เป็นจำนวนมาก จึงเรียกพระภิกษุฝ่ายนี้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นฝ่ายคามวาสี หรือพระบ้าน
ฝ่ายวิปัสสนาธุระ นำเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไปประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จริงจังโดยเน้นที่การฝึกจิตในด้านสมาธิ เพื่อให้เกิดปัญญาในลักษณะของภาวนามยปัญญา อันเป็นความรู้ที่แท้จริงตามหลักของพระพุทธศาสนา เป็นปัญญาที่เกิดจากภายในผุดเกิดขึ้นเองเมื่อได้ปฏิบัติสัมมาสมาธิ จนถึงระดับหนึ่งคือ จตุตถฌานแล้วกระทำในในให้แยบคายน้อมไปไปสู่ที่ใต้ต้นวิชชาสาม ซึ่งจะเป็นความรู้ตามความเป็นจริงในระดับหนึ่ง ตามกำลังความสามารถของผู้ปฏิบัตินั้น ๆ อันเป็นหนทางนำไปสู่ความหลุดพ้นจากวัฏสงสาร ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางอันสูงสุดของพระพุทธศาสนา การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผลดังกล่าวจำเป็นต้องหาที่สงบสงัด ห่างไกลต่อการรบกวนจากภายนอกในรูปแบบต่าง ๆ ดังนั้นพระภิกษุฝ่ายนี้จึงออกไปสู่ป่าเขา แสวงหาสถานที่ เพื่อให้เกิดสัปปายะแก่ตนเองที่จะบำเพ็ญสมาธิภาวนาอย่างได้ผล จึงเรียกพระภิกษุฝ่ายนี้ว่า ฝ่ายอรัญวาสี หรือพระป่า หรือพระธุดงค์
ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุทุกรูปจะเป็นพระป่า พระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำชับให้ภิกษุสาวกของพระองค์ ให้ออกไปสู่โคนไม้ คูหาหรือเรือนร้าง เพื่อปฏิบัติสมาธิภาวนา
พระพุทธเจ้าประสูติในป่า คือที่ป่าลุมพินีวัน ณ เขตติดต่อแดนระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ ตรัสรู้ที่ใต้ต้นอัสสัตถพฤกษ์ ในป่าริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เขตกรุงสาวัตถี แคว้นมคธ ทรงแสดงพระปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงกรุงพาราณสี และเข้าสู่ปรินิพพานที่ป่าในเขตกรุงกุสินาราย ตลอดระยะเวลา ๕๑ ปี พระพุทธเจ้าได้ทรงจาริกไปสั่งสอนเวไนยสัตว์ และเสด็จประทับอยู่ในป่า เมื่อมีผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาสร้างวัดถวายก็จะสร้างวัดในป่า เช่น เชตวัน เวฬุวัน อัมพวัน ลัฏฐิวัน ชีวกัมพวัน มัททกุจฉิมฤคทายวัน อันธวัน และนันทวัน เป็นต้น คำว่าวันแปลว่าป่า พระพุทธองค์จะประทับอยู่ในวัดดังกล่าวตอนช่วงพรรษา ปีหนึ่งไม่เกินสี่เดือน นอกจากนั้นจะเสด็จจาริกนอนตามโคนไม้ตามป่า
พระป่าของไทย
พระป่าของไทย หมายถึงพระที่อยู่ตามธรรมชาติเช่นเดียวกับ พระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกตั้งแต่สมัยพุทธกาล เป็นผู้ที่บรรพชาอุปสมบทถูกต้องครบถ้วนตามพระธรรมวินัย ไม่ผิดกฏหมายของบ้านเมือง บวชด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอย่างเปี่ยมล้นและบริสุทธิ์ใจในบวรพุทธศาสนา เมื่อบวชแล้วก็มุ่งมั่นบำเพ็ญเพียร ตามหลักพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เพื่อให้บรรลุธรรม อันนำไปสู่การพ้นจากวัฏสงสาร ทำให้พ้นจากกองทุกข์ อันเป็นจุดหมายอันสูงสุดของพระพุทธศาสนา
ในสมัยสุโขทัยต่อเนื่องมายังสมัยอยุธยา เรามีพระภิกษุฝ่ายคามวาสี เน้นทางด้านคันถธุระ และฝ่ายอรัญวาสีเน้นทางด้านวิปัสสนาธุระ ดังจะเห็นได้ในประวัติศาสตร์ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้งที่กระทำสงครามยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแม่ทัพพม่า ได้ชัยชนะ แต่แม่ทัพนายกองหลายคนกระทำการบกพร่องได้รับการพิจารณาโทษ สมเด็จพระนพรัตน์แห่งวัดป่าแก้วและคณะ ได้เสด็จมาแสดงธรรมเพื่อให้ทรงยกโทษประหารแก่ แม่ทัพนายกองเหล่านั้น โดยยกเอาเหตุการณ์ตอนที่พระพุทธองค์ผจญพญามาร ในคืนวันที่ จะทรงตรัสรู้มาเป็นอุทาหรณ์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงปิติโสมนัส ซาบซึ้งในพระธรรมที่สมเด็จพระนพรัตน์วัดป่าแก้ว ทรงแสดงยิ่งนักตรัสว่า "พระผู้เป็นเจ้าว่านี้ควรหนักหนา" และได้ทรงพระราชทานอภัยโทษประหารแก่แม่ทัพนายกองเหล่านั้น
จะเห็นว่าสมเด็จพระนพรัตน์วัดป่าแก้ว เป็นพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสี จึงได้ชื่อนี้ และอยู่ที่วัดป่า แต่ก็มิได้ตัดขาดจากโลกภายนอก เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญที่ฝ่ายพระภิกษุสงฆ์สมควรที่จะออกมาสงเคราะห์ฝ่ายบ้านเมือง หรืออาจจะกล่าวโดยรวมว่า ฝ่ายศาสนจักรสงเคราะห์ฝ่ายอาณาจักร ท่านก็สามารถกระทำกิจนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ อย่างผู้ที่แตกฉานในพระไตรปิฎก ดังนั้น พระภิกษุสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีผู้ปฏิบัติวิปัสสนาธุระ จะต้องมีความรู้ทางคันถธุระเป็นอย่างดีมาก่อน จะได้ปฏิบัติวิปัสสนาธุระได้อย่างถูกต้องตรงทาง คุณสมบัติข้อนี้ได้มีตัวอย่างมาแล้วแต่โบราณกาล
ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีพระภิกษุที่เป็นแบบอย่างของพระป่าในปัจจุบัน เป็นที่รู้จักกันดีคือ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส กรุงเทพ ฯ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทั้งสามท่านมีกิตติศัพท์เป็นที่เลื่องลือ ในดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ทั้งในประเทศไทย ประเทศลาว และประเทศพม่า สำหรับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นพระภิกษุที่มีศิษย์เป็นพระป่ามากที่สุดสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ท่านได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ และมรณภาพ เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๙๖ นับจากปี พ.ศ.๒๔๖๐ จนมรณภาพท่านได้ออกสั่งสอนศิษย์เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสูงสุด โดยเน้นภาคปฏิบัติที่เป็นจิตภาวนาล้วน ๆ ตามแนวทางพระอริยมรรคมีองค์แปด เมื่อกล่าวโดยย่อได้แก่ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ปัจจัยสี่ของพระป่า
ปัจจัยที่จำเป็นสำหรับพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เพื่อให้พอเหมาะแก่การดำรงชีวิตอยู่สำหรับการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้สี่อย่าง พระป่าของไทยได้นำมาประพฤติปฏิบัติจนถือเป็นนิสัยคือ
๑. การออกเที่ยวบิณฑบาตมาเลี้ยงชีพตลอดชีวิต การบิณฑบาตเป็นงานสำคัญประจำชีวิต ในอนุศาศน์ท่านสั่งสอนไว้มีทั้งข้อรุกขมูลเสนาสนะ และข้อบิณฑบาต การออกบิณฑบาต พระผู้มีพระภาคทรงถือเป็นกิจจำเป็นประจำพระองค์ ทรงถือปฏิบัติเพื่อโปรดเวไนยสัตว์อย่างสม่ำเสมอตลอดมาถึงวันปรินิพพาน
การบิณฑบาต เป็นกิจวัตรที่อำนวยประโยชน์แก่ผู้บำเพ็ญเป็นเอนกปริยาย กล่าวคือ เวลาเดินบิณฑบาตไปในละแวกบ้าน ก็เป็นการบำเพ็ญเพียรไปในตัวตลอดเวลาที่เดิน เช่นเดียวกับเดินจงกรมอยู่ในสถานที่พักประการหนึ่ง เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถในเวลานั้นประการหนึ่ง ผู้ที่บำเพ็ญทางปัญญาโดยสม่ำเสมอ เมื่อเวลาเดินบิณฑบาต เมื่อได้เห็นหรือได้ยินสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาสัมผัสทางทวารย่อมเป็นเครื่องเสริมสติปัญญา และถือเอาประโยชน์จากสิ่งนั้น ๆ ได้โดยลำดับประการหนึ่ง เพื่อตัดความเกียจคร้านของตนที่ชอบแต่ผลอย่างเดียว แต่ขี้เกียจทำเหตุที่คู่ควรแก่กันประการหนึ่ง และเพื่อตัดทิฏฐิมานะถือตน รังเกียจต่อการโคจรบิณฑบาต อันเป็นลักษณะของการเป็นผู้ขอ
เมื่อได้อะไรมาจากบิณฑบาตก็ฉันอย่างนั้น พอยังอัตภาพให้เป็นไป ไม่พอกพูนส่งเสริมกายให้มาก อันจะเป็นข้าศึกต่อความเพียรทางใจให้ก้าวหน้าไปได้ยาก การฉันหนเดียวในหนึ่งวันก็ควรฉันเถิดแต่พอประมาณ ไม่ให้มากเกินไป และยังต้องสังเกตด้วยว่าอาหารชนิดใดเป็นคุณแก่ร่างกาย และเป็นคุณแก่จิต เพื่อให้สามารถปฏิบัติสมาธิภาวนาได้ด้วยดี
๒. การถือผ้าบังสุกุลจีวรตลอดชีวิต ในสมัยพุทธกาล พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญพระมหากัสสปะว่า เป็นผู้เลิศในการทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
ผ้าบังสุกุล คือผ้าที่ถูกทอดทิ้วไว้ตามป่าช้า เช่นผ้าห่อศพ หรือผ้าที่ทิ้งไว้ตามกองขยะ ซึ่งเป็นของเศษเดนทั้งหลาย ไม่มีใครหวงแหน พระภิกษุเอามาเย็บติดต่อกันตามขนาดของผ้าที่จะทำเป็นสบง จีวร สังฆาฏิ ได้ประมาณแปดนิ้วจัดเป็นผ้ามหาบังสุกุล ผ้าบังสุกุลอีกประเภทหนึ่งที่เป็นรองลงมา ผู้ที่มีจิตศรัทธานำผ้าที่ตนได้มาด้วยความบริสุทธิ์ไปวางไว้ในสถานที่พระภิกษุเดินจงกรมบ้าง ที่กุฏิบ้าง หรือทางที่ท่านเดินผ่านไปมา แล้วหักกิ่งไม้วางไว้ที่ผ้า หรือจะจุดธูปเทียนไว้ พอให้ท่านรู้ว่าเป็นผ้าถวายเพื่อบังสุกุลเท่านั้น
๓. รุกขมูลเสนาสนัง ถือการอยู่โคนไม้ในป่าเป็นที่อยู่อาศัย มหาบุรุษโพธิสัตว์ก่อนทรงตรัสรู้ในระหว่างที่แสวงหาโมกขธรรมอยู่หกปี ก็ได้มีความเป็นอยู่อย่างนี้มาโดยตลอด ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงแนะนำพระสาวกให้เน้นการอยู่ป่าเป็นส่วนใหญ่ จำทำให้การปฏิบัติธรรมก้าวหน้ากว่าการอยู่ที่อื่น
๔. การฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่าตลอดชีวิต เป็นการฉันยาตามมีตามได้ หรือเที่ยวแสวงหายาตามป่าเขา อันเกิดตามธรรมชาติเพื่อบรรเทาเวทนาของโรคทางกายเท่านั้น
กิจวัตรของพระป่า
กิจวัตรที่สำคัญในพระพุทธศาสนา เป็นแนวปฏิบัติของพระป่า ที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำมีอยู่สิบประการคือ
๑. ลงพระอุโบสถในอาวาสหรือที่ใด ๆ มีพระภิกษุตั้งแต่สี่รูปขึ้นไป ต้องประชุมกันลงฟังพระปาฏิโมกข์ ทุก ๑๕ วัน (ครึ่งเดือน)
๒. บิณฑบาตเลี้ยงชีพตลอดชีวิต
๓. ทำวัตรสวดมนต์ เช้า - เย็นทุกวัน เว้นแต่เจ็บไข้อาการหนัก พระป่าจะทำวัตรสวดมนต์เอง ไม่ได้ประชุมรวมกันทำวัตรสวดมนต์เหมือนพระบ้าน
๔. กวาดเสนาสนะ อาวาส ลานพระเจดีย์ ลานวัด และบริเวณใต้ต้นมหาโพธิ ถือเป็นกิจวัตรสำคัญ เป็นเครื่องมือขจัดความเกียจคร้านมักง่ายได้เป็นอย่างดี พระวินัยได้แสดงอานิสงส์ไว้ ห้าประการ คือ หนึ่งในห้าประการนั้นคือ
ผู้กวาดชื่อว่าเป็นผู้ดำเนินตามคำสั่งสอนของพระศาสดา เบื้องหน้าแต่ตายเพราะทำลายขันธ์ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
๕. รักษาผู้ไตรครองคือ สังฆาฏิ จีวร และสบง
๖. อยู่ปริวาสกรรม
๗. ปลงผม โกนหนวด ตัดเล็บ
๘. ศึกษาสิกขาบท และปฏิบัติอาจารย์
๙. แสดงอาบัติคือ การเปิดเผยโทษที่ตนทำผิดพระวินัยที่เป็นลหุโทษ แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งให้ทราบ และสัญญาว่าจะสำรวมระวังมิให้เกิดทำผิดเช่นนั้นอีก
๑๐. พิจารณาปัจจเวกขณะทั้งสี่ ด้วยความไม่ประมาท คือ พิจารณาสังขาร ร่างกาย จิตใจ ให้เป็นของไม่เที่ยงถาวรที่ดีงามได้ยาก ให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพื่อเป็นอุบายทางปัญญาอยู่ตลอดเวลาในอิริยาบถทั้งสี่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน
ธุดงควัตรของพระป่า
ธุดงค์ที่พระผู้มีพระภาคให้ปฏิบัติเพื่อขจัดกิเลสที่ฝังอยู่ภายใจจิตใจของปุถุชน มีอยู่ ๑๓ ข้อ ดังนี้
๑. ปังสุกูลิกังคะ ถือใช้แต่ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
๒. เตจีวริกังคะ ถือใช้ผ้าเพียงสามผืนเป็นวัตร
๓. ปิณฑปาติกังคะ ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
๔. สปทานจาริกังคะ ถือการเที่ยวบิณฑบาตไปตามแถวเป็นวัตร เพื่อเป็นความงามในเพศสมณะในทางมรรยาท สำรวมระวังอยู่ในหลักธรรม หลักวินัย
๕. เอกาสนิกังคะ ถือการฉันมื้อเดียวเป็นวัตร เพื่อตัดกังวลในเรื่องการฉันอาหารให้พอเหมาะกับเพศสมณะให้เป็นผู้เลี้ยงง่าย ไม่รบกวนคนอื่นให้ลำบาก
๖. ปัตตปิณฑิกังคะ คือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร ฉันเฉพาะในบาตร เพื่อขจัดความเพลิดเพลินในรสอาหาร
๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือการห้ามฉันภัตอันนำมาถวายเมื่อภายหลังเป็นวัตร
๘. อารัญญิกังคะ ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
๙. รุกขมูลิกังคะ ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร ข้อนี้ตามแต่กาลเวลาและโอกาสจะอำนวยให้
๑๐. อัพโภกาลิกังคะ ถือการอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร ข้อนี้ก็คงตามแต่โอกาส และเวลาจะอำนวยให้
๑๑. โสสานิกังคะ ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติให้เหมาะกับเวลาและโอกาส
๑๒. ยถาสันถติกังคะ ถือการอยู่เสนาสนะแล้วแต่เข้าจัดให้ มีความยินดีเท่าที่มีอยู่ไม่รบกวนผู้อื่น อยู่ไปพอได้บำเพ็ญสมณธรรม
๑๓. เนสัชชิกังคะ ถือการ ยืน เดิน นั่ง อย่างเดียว ไม่นอนเป็นวัตร โดยกำหนดเป็นคืน ๆ ไป
เครื่องบริขารของพระป่า
เครื่องบริขารของพระป่า ตามพระวินัยกล่าวไว้มีสองชนิด คือ บาตรดินเผา และบาตรเหล็ก ปัจจุบันใช้บาตรเหล็กที่ระบมด้วยไฟ เพื่อป้องกันสนิม
สบงหรือผ้านุ่ง จีวรหรือผ้าห่ม และสังฆาฏิ เป็นบริขารที่จำเป็นสำหรับพระภิกษุ ผ้าเหล่านี้พระป่าจะทำกันเองตั้งแต่การตัดเย็บ ย้อมด้วยน้ำแก่นขนุนเรียกว่า ย้อมด้วยน้ำฝาด
บริขารอื่นนอกจากบริขารแปดแล้ว ก็มีกลดพร้อมมุ้งกลด ในฤดูฝนสามารถใช้แทนร่มในเวลาออกบิณฑบาต นอกจากนี้ก็มีผ้าอาบน้ำฝนใช้นุ่งอาบน้ำ ผ้าอาบน้ำฝนนี้จะใช้หินแดงที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาฝนเป็นสีสำหรับย้อม ผ้าที่ย้อมด้วยหินแดงนี้ จะมีสีแดงเป็นส่วนใหญ่ หินแดงนี้ยังใช้ผสมกับสีแก่นขนุนเพื่อย้อมสบงจีวร และสังฆาฏิได้อีก นอกจากนี้ผ้าปูที่นอน ผ้านิสีทนะสำหรับใช้ปูนั่ง ผ้าอังสะ ผ้าเช็ดหน้าเช็ดปาก ย่ามสำหรับใส่ของ เมื่อถึงเวลาออกเที่ยววิเวกตามป่า ตามเขา ตามถ้ำ ท่านจะซักย้อมผ้าของท่านเพื่อให้สีทนทาน บางทีไปนานสองสามเดือน ก็จะเคี่ยวแก่นขนุนเก็บติดตัวไปด้วย
บันทึกการเข้า
ตามรอยพุทธ
Administrator
Hero Member
กระทู้: มากเกินบรรยาย
Re: ข้อแตกต่างระหว่างพระป่า ( พระธุดงค์ ) กับพระบ้าน
«
ตอบกลับ #1 เมื่อ:
29 สิงหาคม 2015, 10:23:22 »
ข้อแตกต่างระหว่างพระป่า ( พระธุดงค์ ) กับพระบ้าน
1. สีจีวรต่างกัน มหานิกายจะห่มสีส้มทอง แต่ธรรมยุติจะห่มสีเข้ม
ที่เรียกว่า
สีแก่นขนุน
แต่เดี๋ยวนี้ แยกออกมาอีกหลากหลาย มีทั้งแก่นทอง แก่นกรัก แก่นแดงพระป่า ฯลฯ แต่ความต่างอันนี้ก็ไม่จำเป็น อีกแล้วครับ เพราะอย่างสายหลวงพ่อชา พระอาจารย์สุรศักดิ์ เองก็เป็นมหานิกาย ที่ห่มจีวรสีธรรมยุติ อีกประการหนึ่งที่ทำให้สังเกตุยากในพิธีหลวง คือ สงฆ์สองนิกาย จะใช้จีวรสีพระราชนิยม (ที่เรียกบิดเบือนไปว่า สีพระราชทาน) เป็นสีกลางระหว่างสองนิกายครับ เพื่อความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันเมื่อประชุมพร้อมกัน และไม่ทำให้เกิดความแตกแยกด้วยครับ
เกร็ด : เล่า ว่าสายพระป่าใช้สีจีวรออกแดง เพราะหลวงปู่มั่นท่านสงสัยว่าในสมัยพุทธกาล พระครองจีวรสีอะไรกัน และสีนี้ก็ปรากฏในสมาธิของท่าน จึงใช้ต่อๆกันมาเป็นอาจาริยวาสครับ
ประสบการณ์ : ขณะ ที่บวชอยู่ทราบว่าพระป่าท่านจะไม่ค่อยซักจีวรกัน เพราะใช้ด้วยความระมัดระวัง และด้วยข้อจำกัดของการอยู่ป่า ท่านจึงมักครองซักระยะ แล้วใช้ต้มจีวร พร้อมแก่นขนุน หรือสีสังเคราะห์ครับ สีย้อมจีวรนี่คนนึกไม่ถึงกัน จึงไม่ค่อยได้ถวาย ขอแนะนำสีตรากิเลนครับ เพราะจะติดดี ใช้อัตราส่วน สีเหลืองทอง 2 กระป๋อง ต่อสีกรัก(สีอัลโกโซน) 1 กระป๋อง และบวกด้วยสีแดงนิดหน่อย ต่อจีวรหนึ่งผืนครับ ใครอยากถวายของหาได้ยาก งานนี้ได้เลย โมทนาด้วยครับ
2. ครองจีวรต่างกัน มหานิกายมักจะห่มดอง
โดยสังเกตุได้ว่าจะพันผ้ารัดอกทับสังฆาฏิ และมือสองข้างเป็นอิสระ โดยเฉพาะในงานพิธีการ นอกจากนั้น ก็ จะมีการห่มมังกร โดยหมุนผ้าลูกบวบทางขวาเวลาออกนอกวัด ส่วนเมือถึงเวลาทำสังฆกรรมจะคาดผ้าที่หน้าอก และมีผ้าสังฆาฏิพาดที่ไหล่ซ้าย แต่เหลือน้อยวัดแล้ว เช่นที่วัดสะเกศ เป็นต้น ส่วนธรรมยุติ จะห่มลูกบวบ โดยม้วนๆๆ ใส่ไว้ใต้รักแร้ข้างซ้าย เวลางานพิธีก็เพียงพันผ้ารัดอกทับไปเลย บางทีเรียกกันลำลองว่าห่มดองธรรมยุติ แต่เดี๋ยวนี้ความต่างน้อยลงเพราะ มีพระบัญชาของสมเด็จพระมหาสมณะเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรส ให้พระภิกษุทั่วสังฆมณฑลห่มผ้าตามแบบของธรรมยุติกนิกายทั้งหมด อีก ประการที่เหมือนกันคือ พระไทยจะห่มคลุมไหล่ทั้งสองข้างเมื่ออยู่นอกวัด และลดไหล่ซ้ายยามอยู่ในวัด ซึ่งแตกต่างจากของพม่าที่ทำตรงข้ามกัน
3. ปัจจัย
อย่างที่ทราบกันว่า พระธรรมยุตินั้นจะไม่จับปัจจัย แต่สามารถรับใบโมทนาบัตรได้ ส่วนพระมหานิกายนั้น ไม่ถือในข้อนี้ ในหนังสือบูรพาจารย์เล่าว่า หลวงปู่มั่น เคยออกปากไล่พระอาคันตุกะ เพราะนำอสรพิษติดตัวมาด้วย ตอนแรกพระท่านก็งง แต่นึกออกภายหลังว่านำเงินติดใส่ย่ามมาด้วย ดร. สนอง วรอุไร ท่านสรุปว่าสองนิกายรับเงินได้ เพียงแต่มีวิธีคนและแบบเท่านั้นครับ แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นนะครับ พระบางรูปท่านถือเรื่องเงินว่า เป็นเรื่องที่ท่านจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเลย อย่าง ที่วัดมเหยงคณ์มีพระอาจารย์ที่ผมและทิดทั้งหลายนับถือมากท่านหนึ่ง ท่านไม่รับถวายปัจจัย ไม่ว่าในรูปแบบใดและข้าวของใดๆทั้งสิ้น นอกจากจำเป็นจริงๆ ท่านเป็นมหาเปรียญ ๗ ประโยค ผู้แตกฉานในพระไตรปิฏก แต่เร่งความเพียรในการภาวนา และอยู่อย่างเรียบง่ายยิ่งนัก เป็นพระสุปฏิปัณโณที่แท้จริง และสอนจริงทั้งทฤษฏี และ ปฏิบัติ แต่จะหาตัวยาก เพราะท่านมักออกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆโดยเดินไป และไม่อาจติดต่อได้ ขอออกนามท่าน 'พระอาจารย์มหาสุชาติ สุชาโต' ด้วยความเคารพเหนือเกล้า (จิตตอนนี้นึกถึงพระมหากัสปะผู้เป็นเลิศในธุดงควัตร) แต่ การจับปัจจัย รับปัจจัยหรือไม่ ไม่อาจบ่งชี้ว่าท่านใดบริสุทธิ์หรือไม่นะครับ เพราะเป็นเพียงการแสดงออกของกายบัญญัติ มิใช่เจตนาปรมัตถ์ เช่นที่หลวงปู่แหวนเอาแบ๊งค์ห้าร้อยมามวนบุหรี่สูบ พระธรรมยุติสายป่าเองก็ปรับท่านอาบัติมิได้ โดยหลวงตามหาบัวท่านรับรองไว้
4. ฉันในบาตร
กริยานี้บางท่านก็ว่าเป็นข้อต่างของสองนิกาย เพราะธรรมยุติมักจะฉันในบาตร แต่พระมหานิกายรับบาตรแล้วแยกฉันในจาน ข้อนี้ก็ตอบยากเพราะมีวัดธรรมยุติที่ไม่ใช่สายป่าบางวัดก็ฉันในจาน และพระมหานิกายบางรูปที่ถือธุดงควัตรข้อนี้ก็ฉันแต่ในบาตร
เกร็ด : ถ้าจะนำบาตรไปถวายพระป่า ควรเลือกปากกว้างซัก 9 นิ้ว และไม่มีขอบเพื่อกันเศษอาหารเข้าไปติดบูดเน่าได้นะครับ
5. การรับบาตร
และเก็บอาหาร พระสายป่าท่านจะเคร่งเรื่องนี้ครับ ว่ารับเฉพาะของที่ฉันได้ทันที ดังนั้นจะไม่รับของแห้งพวกข้าวสาร หรือของที่ฉันไม่ได้เช่น แปรงสีฟัน ใส่ในบาตร แม้เป็นเพียงการรับเชิงสัญลักษณ์ เช่นตักบาตรปีใหม่ ท่านจะเสี่ยงให้ถวายกับมือแทน หรือ ถวายเป็นสังฆทานกองรวมไป และ ก็จะไม่เก็บอาหารพ้นกาล เช่น อาหารทั่วไป ถึงเที่ยง น้ำปานะ หนึ่งวัน เภสัชห้า (น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำตาล เนยใส เนยข้น)เจ็ดวัน พ้นนี้ไปท่านไม่เก็บในกุฏิ แม้ไว้ให้ญาติโยม และไม่มีการนำมาประเคนใหม่ แต่ก็ไม่ใช่พระทั้งหมดที่ทำตามข้อวัตรนี้ และผู้ที่ถือตามนี้ก็มีทั้งสองนิกายด้วยเช่นกัน
เกร็ด : พระอาจารย์เปลี่ยนท่านห่วงโยมว่าจะไม่เข้าใจเรื่องนี้ เลยเมตตาเขียนไว้เป็นคู่มือการถวายของพระครับพุทธศาสนิกชนควรอ่านทำความเข้าใจนะครับ หนังสือมีคุณค่ามากๆเล่มนึง
6. พระธรรมยุติไม่ทำสังฆกรรมร่วมกับพระมหานิกายครับ
เช่น การลงอุโบสถ อย่างที่หลวงปู่มั่นให้หลวงปู่ชาทำ คือ มาบอกบริสุทธิ์ กับท่านหลังจากพระธรรมยุติรูปอื่นๆ ชำระศีลผ่านขั้นตอนปาฏิโมกข์เรียบร้อยแล้วจึงเห็นได้ว่า ลูกศิษย์ที่เคยเป็นสายมหานิกาย ต้องทำการญัตติ หรือบวชเป็นพระ เริ่มนับพรรษาใหม่
สรุป
การ มองอย่างผิวเผินโดยการนำข้อวัตรของสองนิกายนี้มาเปรียบหาแต่ความแตกต่างกัน ทำได้ยากขึ้นทุกทีๆ เพราะมีการโน้มเข้ามาหากันมากขึ้น หรืออาจจะเกิดจาก perception ที่ตั้งไว้ผิดตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว และ อีกอย่างการคิดในการหาข้อต่างอย่างเดียวอาจเสี่ยงให้เกิดการยึดมั่นในศรัทธา ต่อนิกายหนึ่งนิกายใด จนลืมไปว่าธรรมะของพระองค์ไม่มีแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เพราะการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายก็คือการมีตัวตนอยู่ในนั้น และสุดยอดของคำสอนคือการละตัวตนเพือมิให้มีกิเลสมาอาศัยเกาะได้ถึงตรงนี้ต้องกราบหลวงปู่มั่นงามๆที่เล็งเห็นในอันตรายนี้จึงห้ามมิให้ลูกศิษย์บางส่วนเช่น หลวงปู่ชาญัตติเข้าธรรมยุติครับ
บันทึกการเข้า
พิมพ์
หน้า: [
1
]
ขึ้นบน
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ชมรมนักวิทยุสมัครเล่นแก่นทอง จังหวัดขอนแก่น ความถี่ 144.750 MHz
»
สถานที่ท่องเที่ยวและคลังแห่งการเรียนรู้ทางพุทธศาสนา
»
วัดและสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา
»
ข้อแตกต่างระหว่างพระป่า ( พระธุดงค์ ) กับพระบ้าน
Tweet